นโยบายการบริหารงานสำนักงาน
นโยบายการบริหาร
30 พฤศจิกายน 542

0


              ๑.  นโยบายด้านการเมืองและการบริหาร

               การพัฒนาการเมืองการบริหาร เพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ได้ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น ให้ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่น ในการกำหนดนโยบาย การบริหาร การเงิน การคลัง การบริหารงานบุคคล ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติตามภารกิจที่เพิ่มขึ้นขององค์การบริหารส่วนตำบล ตลอดจนการเสริมสร้างจิตสำนึกของพนักงาน เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างในการบริการประชาชนให้ได้รับความสะดวก รวดเร็วและเกิดความพึงพอใจ ดังนี้

                   ๑.๑  พัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งเตาใหม่ให้เป็นองค์กรธรรมา     ภิบาล ที่มีหลักการบริหารจัดการตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี และเป็นหน่วยบริการสังคมที่ดี มีมาตรฐานด้วยการส่งเสริม สร้างความร่วมมือ ประสานงานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สร้างกระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพและยกระดับแก่สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการ พนักงานและลูกจ้าง ซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลสำคัญของตำบลทุ่งเตาใหม่ พร้อมทั้งสร้างเสริมกระบวนการพัฒนาระบบการบริการสาธารณะที่ดีมีมาตรฐาน สร้างความสะดวก ลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน สร้างบุคลากรให้มีคุณภาพและมีจิตสำนึกในการให้บริการ เพื่อรองรับการบริการแต่ละด้านให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

                   ๑.๒  เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บและพัฒนารายได้ ให้มีความทั่วถึง เป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้และปฏิบัติงานอย่างมีระบบ

               ๒.  นโยบายด้านการพัฒนาสังคม

                   พัฒนาศักยภาพของประชาชนภายในตำบล ทั้งในด้านการศึกษา สาธารณสุขและการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน การสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านสุขภาพ ช่วยรณรงค์ให้เกิดการพัฒนาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางด้านสุขภาพอนามัย ในการสร้างเสริมสุขภาพและลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนี้

                   ๒.๑  รณรงค์ส่งเสริมกระบวนการสร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรมการสร้างวินัย และจิตสาธารณะของคนในชุมชน

                   ๒.๒  ส่งเสริม สนับสนุน อำนวยความสะดวกแก่การดำเนินงานด้านสวัสดิการสงเคราะห์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้วยโอกาสให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถพึ่งตนเองได้ รวมทั้งได้รับการช่วยเหลือและได้รับการบริการอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

                   ๒.๓  ส่งเสริมและสนับสนุนด้านการกีฬาเพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของประชาชน ให้เด็กและเยาวชนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สนับสนุนให้มีการแข่งขันกีฬาสัมพันธ์ภายในตำบล เพื่อก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคีและปลูกฝังค่านิยมที่ดีต่อการกีฬา

                   ๒.๔  ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ ร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่สถาบันครอบครัว

                   ๒.๕  ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาสังคมที่สอดคล้องกับทิศทางของการสร้างสังคมที่อยู่ดีมีสุข มีความเป็นตำบลน่าอยู่ ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นทุกเวลา

                   ๒.๖  สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพโดยประชาชนและชุมชนท้องถิ่น ให้ประชาชนมีสุขภาพอนามัยสมบูรณ์ แข็งแรง และมีสุขภาพจิตที่ดี

                   ๒.๗  สนับสนุนการควบคุมป้องกันการเผยแพร่ระบาดของโรคติดต่อ และโรคไม่ติดต่อ ที่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ โดยการสร้างขีดความสามารถในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมและดูแลรักษาอย่างเป็นระบบ เชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

                   ๒.๘  ส่งเสริมกิจกรรมที่สอดคล้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค

                   ๒.๙  พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในตำบลให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

               ๓.  นโยบายด้านการพัฒนาการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม

                   เพื่อพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งความรู้ โดยยึดหลักการศึกษาสร้างชาติ สร้างคนและสร้างงาน ตลอดจนการส่งเสริม สนับสนุนด้านการศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมของท้องถิ่น ดังนี้

                   ๓.๑  สนับสนุนและส่งเสริมพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนให้ได้ตามมาตรฐาน เน้นคุณภาพ ประสิทธิภาพ และเพิ่มศักยภาพให้นักเรียนในพื้นที่ป้องกันไม่ให้ผู้ปกครองนำบุตรหลานไปเรียนนอกพื้นที่

                   ๓.๒  สนับสนุน ส่งเสริม รักษาขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะและวัฒนธรรมอันดีงามและท้องถิ่น

               ๔.  นโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ

                   ใน สภาวการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเกิดความถดถอยทางเศรษฐกิจ การส่งเสริม การพัฒนา ทางเศรษฐกิจภายในท้องถิ่นเป็นการสนับสนุนและเพิ่มศักยภาพของกลุ่มให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ดังนี้

                   ๔.๑  สนับสนุน ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มอาชีพ และพัฒนาศักยภาพของกลุ่มให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน พัฒนาอาชีพที่เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมของท้องถิ่นและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนา กระบวนการสร้างระบบเศรษฐกิจชุมชน ขยายเครือข่าว โดยจัดตั้งตลอดกลางทางการเกษตร หาแหล่งรองรับสินค้าทางการเกษตร จัดหาสถานที่จำหน่ายสินให้แก่กลุ่มร้านค้าแผงลอยหรือตลาดจำหน่ายสินค้าของกลุ่มอาชีพ

                   ๔.๒  ปรับปรุงศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตรประจำตำบลให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และมีความพร้อมในการให้บริการแก่เกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ

                   ๔.๓  สนับสนุนกิจกรรมที่สอดคล้องตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

               ๕.  นโยบายด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

                   การพัฒนา โครงสร้างและสภาพแวดล้อมของตำบลเพื่อส่งเสริมศักยภาพเศรษฐกิจและการพัฒนา คุณภาพชีวิตของประชาชน และเป็นการวางรากฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการเป็นศูนย์กลางในการให้บริการ ดังนี้

                   ๕.๑  พัฒนาระบบการ ก่อสร้าง ปรับปรุง บำรุงรักษาสาธารณูปการต่าง ๆ เช่น ถนน การขยายไฟฟ้าและติดตั้งไฟฟ้าสาธารณะ ตามความเหมาะสม

                   ๕.๒   เสริมสร้างมาตรการในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในชุมชน ให้มีและบำรุงทางระบายน้ำ โดยการก่อสร้างและปรับปรุงท่อระบายน้ำ รางระบายน้ำ รวมถึงระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังอย่างเป็นระบบ

                   ๕.๓  ส่งเสริมการพัฒนาแหล่งน้ำสำหรับประชาชนได้อุปโภค บริโภค โดยการพัฒนาแหล่งน้ำที่มีอยู่เดิมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าและจัดหาแหล่งน้ำใหม่ตามความเหมาะสม

                   ๕.๔  ปรับปรุงระบบเสียงตามสายหรือหอกระจายข่าวให้ครอบคลุมในเขตชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างทั่วถึง

              ๖.  นโยบายด้านการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

                    จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เป็นปัจจัยเกื้อหนุนในการดำรงชีวิตเพื่อเอื้ออำนวยต่อความสมดุลของระบบนิเวศวิทยา และสนับสนุนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

                   ๖.๑  รณรงค์ ส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกสาธารณะทางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชน

                   ๖.๒  สนับสนุน ส่งเสริมให้ชุมชนมุ่งรักษาความสะอาด รณรงค์ให้ประชาชนมีจิตสำนึกในการกำจัดขยะมูลฝอยจากแหล่งกำเนิด เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของชุมชน และสถานที่ต่าง ๆ ในตำบลให้เป็นตำบลน่าอยู่

                   ๖.๓  ส่งเสริมสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของตำบลและให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

 

เอกสารแนบ